ขั้นตอนการผลิตอิฐแดง และความเป็นมาที่ยาวนานนับ 100 ปี

Last updated: 16 ก.ย. 2563  |  18174 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ขั้นตอนการผลิตอิฐแดง

        แม้ว่าในปัจจุบันจะมีวัสดุก่อสร้างที่ถูกผลิต และพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับกับความต้องการ และการใช้งานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอิฐบล็อก อิฐมวลเบา รวมถึงผนังคอนกรีตสำเร็จรูป แต่ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า "อิฐแดง" วัสดุก่อผนังที่ถูกผลิต และเป็นที่นิยมใช้ในการก่อสร้างมาอย่างยาวนาน ในปัจจุบันก็ยังเป็นที่นิยมอยู่ ด้วยความแข็งแกร่ง ทนทาน และสีที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งสามารถตอบโจทย์ได้ทั้งงานก่อฉาบ และงานก่อโชว์ความสวยงาม ในบทความนี้อิฐแดงเอเชียจึงอยากจะพาทุกคนไปรู้จักกับอิฐแดงให้มากขึ้น ทั้งความเป็นมา และกระบวนการผลิตที่กว่าจะได้อิฐแดงแต่ละก้อนนั้น ไม่ง่ายเลย

 

ต้นกำเนิดของอิฐแดง

        ย้อนไปในสมัยอดีต อิฐแดงนั้นถูกเรียกว่าอิฐมอญ เนื่องจากคนมอญเป็นชนชาติแรกที่ทำเครื่องปั้นดินเผา รวมถึงอิฐแดง จากดินเหนียว หรือดินแม่น้ำในพื้นที่ ซึ่งได้อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย และเผยแพร่การผลิต จึงใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งแหล่งการผลิตนั้นพบได้มากในจังหวัดปทุมธานี จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดอ่างทอง และจังหวัดสิงห์บุรี อาชีพการทำอิฐแดง และเครื่องปั้นดินเผาถือเป็นเอกลักษณ์ของชาวมอญมาแต่โบราณก็ว่าได้ เมื่อกาลเวลาผ่านไปก็ได้มีการสืบทอดมาสู่ยุคปัจจุบันของเรานั่นเอง

 

วัตถุดิบในการผลิตอิฐแดง

       1. ดินเหนียว เดิมใช้ดินจากแม้น้ำ ที่มีเนื้อละเอียดผสมกับทราย ซึ่งไม่เหนียวมากเกินไป แต่ปัจจุบันดินแม่น้ำมีค่าใช้จ่ายสูง จึงหันไปใช้ดินจากพื้นที่ลุ่ม ซึ่งมีคุณลักษณะเหมือนดินแม่น้ำ คือเป็นดินสองชั้น ชั้นบนเป็นดินเหนียวปนทราย ส่วนชั้นล่างเป็นดินเหนียวล้วน เมื่อขุดมารวมกันก็จะได้ดินเหนียวปนทราย

 

        2. เถ้าแกลบ ใช้ผสมกับดินเหนียวในขั้นตอนการหมัก ซึ่งเป็นส่วนช่วยเพิ่มความหนาแน่นให้กับดินเหนียว เพราะในดินเหนียวมีน้ำอยู่มาก อาจทำให้ดินเหลวเกินไป ไม่เป็นก้อน เถ้าแกลบนี้ได้มาจากการเผาอิฐ ที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง เมื่อแกลบไหม้จนหมดก็จะกลายเป็นเถ้าที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อได้อีก

 

        3. ฟืน และแกลบ ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการเผา ต้องแห้ง ไม่เปียกน้ำ หรือมีความชื้นมากเกินไป เพราะจะลดประสิทธิภาพในการเผา

 

ขั้นตอนการผลิตอิฐแดง

        1. เริ่มจากการนำดินเหนียว หรือดินเหนียวปนทราย มาหมักกับเถ้าแกลบ ในบ่อหมัก ซึ่งมีน้ำเป็นส่วนช่วยผสมให้ดินและเถ้าแกลบเข้ากันเป็นเนื้อเดียว หมักอย่างนี้ไว้ประมาณ 1 คืน แล้วนำมานวด ย่ำ หรือปั่น แล้วแต่ความถนัดของผู้ผลิต ซึ่งจะช่วยให้ดินเหนียวและเถ้าแกลบเข้ากันได้มากขึ้น และดินที่ได้จากมีเนื้อละเอียด

 

        2. รีด หรืออัด ขึ้นรูปอิฐ ในเครื่องรีด หรือแม่พิมพ์ไม้ ตัดให้ดินเหนียวมีรูปทรงสี่เหลี่ยมตามขนาดที่ต้องการ และปาดหน้า เก็บเหลี่ยมมุมให้เรียบร้อยสมบูรณ์ เตรียมตัวตากแห้ง ขั้นตอนนี้สำคัญมาก หากรูปร่างก่อนดินเหนียวแห้งยังเป็นรูปร่างที่ไม่สมบูรณ์ หรือมีการชำรุด เมื่อดินเหนียวแห้งแล้วก็จะไม่สามารถแก้ไขได้

 

        3. ผึ่งอิฐที่รีด หรืออัดออกมาเรียบร้อยแล้วในที่ร่ม 2-3 วัน ให้ดินพอแข็งตัวอย่างช้า ๆ เพราะหากนำไปตากแดดทันทีจะทำให้น้ำที่อยู่ในดินเหนียวระเหยเร็วเกินไป ส่งผลให้อิฐแตกได้ หลังจากนั้นนำอิฐดิบไปตากแดดต่อ โดยใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน หรืออาจจะนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และการตัดสินใจของผู้ผลิต เช่น เป็นช่วงฤดูฝน ที่มีฝนตกบ่อย ๆ ทำให้อากาศเปียกชื้น อิฐดิบก็จะแข็งตัวได้ยาก หากนำอิฐดิบที่มีความชื้นมาก ๆ เข้าไปเผา อาจทำให้เกิดการหดตัวอย่างรวดเร็ว และแตกหักเสียหายได้

 

        4. เมื่ออิฐดิบแห้งดีแล้ว ผู้ผลิตจะนำไปเผาในเตา ซึ่งมีเตา 2 รูปแบบ คือเตาแบบชั่วคราว และเตาแบบถาวร ซึ่งส่วนมากมักใช้เตาแบบชั่วคราว โดยการนำอิฐดิบมาเรียงซ้อนกันตั้งขึ้นเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมในสภาพที่สามารถพร้อมเผาได้ทันที แล้วนำแผ่นเหล็กหรือแผ่นสังกะสีมาก่อล้อมอิฐดิบที่เรียงกันไว้ จากนั้นตักแกลบคลุมด้านบนให้ทั่ว ใส่ฟืนด้านล่างที่ผู้ผลิตจะเว้นเป็นช่องไว้ให้สามารถเสียบฟืนเข้าไปได้ แล้วจุดไฟเผา ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสำคัญ ทั้งใช้เวลานาน และใช้เงินมากที่สุด เพราะแกลบที่ใช้มีจำนวนมาก และราคาสูง ผู้ผลิตส่วนมากจึงนิยมเผาอิฐดิบครั้งละจำนวนมาก ๆ ประมาณ  70,000 – 100,000 ก้อน เพื่อประหยัดต้นทุน

 

        ใช้เวลาเผาประมาณ 7-15 วัน หรือขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ผลิต เพื่อให้อิฐสุกดี อิฐที่ได้จะมีลักษณะสมบูรณ์ มีเหลี่ยมมุมชัดเจน ไม่มีรอยแตกร้าวเสียหาย ไม่บิดเบี้ยว สีส้มอมแดง หรือน้ำตาลทั่วทั้งก้อน ซึ่งสามารถตรวจสอบความแข็งแกร่งของอิฐแดงเบื้องต้นได้โดยการนำอิฐมากระทบกันเบา ๆ หากเป็นเสียงใส ๆ คล้ายแก้ว แปลว่าอิฐสุกดีแล้ว มีความแข็งแกร่ง ทนทาน พร้อมนำไปใช้งาน

 

        ปัจจุบันอิฐแดงนั้นมีหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นอิฐแดงตันมือ อิฐแดงตันเครื่อง อิฐแดง 2 รู อิฐแดง 3 รู อิฐแดง 4 รู อิฐแดง 4 ช่อง ไปจนถึงอิฐแดง 8 รู และอิฐแดง มอก. นอกจากนี้ยังมีอิฐแดงประเภทอิฐโบราณ อิฐแดงโชว์ ที่มีลักษณะตัน และผิวสัมผัสที่แตกต่างจากอิฐแดงก่อ ซึ่งมีกระบวนการผลิตที่คล้ายคลึงกัน แต่อาจจะแตกต่างกันที่ส่วนผสมของวัตถุดิบ และระยะเวลาในการผลิต

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้